กรมการแพทย์ โดยสถาบันโรคผิวหนัง แนะนำการฉีดฟิลเลอร์ (Filler) หรือการฉีดสารเติมเต็มเข้าสู่ผิวหนัง

เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาผิว ริ้วรอยร่องลึก บริเวณต่างๆ ของใบหน้านั้น ควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทางด้านผิวหนังก่อนฉีด และปฏิบัติตามข้อแนะนำก่อนและหลังการฉีดฟิลเลอร์ เพื่อลดโอกาสเกิดความผิดปกติหรือการเกิดภาวะแทรกซ้อน

ฟิลเลอร์ คืออะไร

นายแพทย์มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ ให้ข้อมูลว่า การฉีดฟิลเลอร์ คือ การฉีดสารเติมเต็ม ใช้สำหรับเติมเต็มเพื่อแก้ปัญหาผิว ริ้วรอยร่องลึก บริเวณต่างๆ ของใบหน้า โดยทั่วไปสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ ชนิดชั่วคราว และชนิดกึ่งถาวร โดยชนิดชั่วคราวส่วนใหญ่ จะเป็นสารกลุ่มไฮยาลูรอนิค แอซิด (Hyaluronic Acid) หรือ (HA) ในการฉีดครั้งหนึ่งจะอยู่ได้นานประมาณ 1-2 ปี ส่วนชนิดกึ่งถาวร ในการฉีดครั้งหนึ่งอาจอยู่ได้ยาวนานเป็น 10 ปี

โดยส่วนใหญ่แพทย์จะไม่ค่อยแนะนำชนิดกึ่งถาวร เนื่องจากโดยส่วนใหญ่มักไม่สามารถสลายได้เองตามธรรมชาติเหมือนกลุ่มไฮยาลูรอนิค แอซิด เมื่อเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาทำให้การรักษาค่อนข้างยาก

4 ข้อควรรู้ก่อนการฉีดฟิลเลอร์

  1. ควรปรึกษาแพทย์เพื่อวิเคราะห์ปัญหา และวางแผนการรักษาอย่างเหมาะสม
  2. หากมีโรคประจำตัว มียาหรือวิตามินที่ต้องรับประทานประจำควรแจ้งแพทย์ก่อนทำการรักษาทุกครั้ง
  3. ควรเลือกยี่ห้อและชนิดของฟิลเลอร์ที่ได้มาตรฐานและสามารถตรวจสอบข้อมูลจากบรรจุภัณฑ์ได้
  4. ควรตรวจสอบสถานพยาบาลหรือคลินิกที่ได้มาตรฐานและมีใบอนุญาตถูกต้อง

อันตรายจากฟิลเลอร์ที่ไม่ได้มาตรฐาน

แพทย์หญิงมิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ ให้กล่าวเพิ่มเติมว่า การฉีดฟิลเลอร์ไม่ได้มาตรฐาน ฉีดไม่ถูกตำแหน่ง หรือการเลือกใช้ตัวของผลิตภัณฑ์ไม่เหมาะสม จะส่งผลให้เกิดการไหลของฟิลเลอร์ ผิวหนังบิดเบี้ยวหรือบวมหนาผิดรูป และมีปัญหาภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมาได้ โดยจะมีวิธีการสังเกตภาวะแทรกซ้อนหรือความผิดปกติหลังการฉีดฟิลเลอร์ ได้แก่

  1. สีผิวบริเวณตำแหน่งที่ทำการรักษาผิดปกติ เช่น ซีด หรือแดงคล้ำ
  2. มีอาการปวด บวม แดงหรือช้ำมากกว่าปกติ
  3. มีอาการชา
  4. มีอาการบวม แดง กดเจ็บ หรือมีหนอง ที่สงสัยว่ามีการติดเชื้อหรืออักเสบที่ผิวหนัง

หากมีอาการเหล่านี้ควรไปพบแพทย์โดยทันที

วิธีปฏิบัติตัวหลังฉีดฟิลเลอร์

ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง ให้คำแนะนำเพิ่มเติมว่า หลังฉีดฟิลเลอร์เสร็จ ควรหลีกเลี่ยงการโดนแสงแดดและความร้อน ทาครีมกันแดดสม่ำเสมอ ควรงดการทำหัตถการบริเวณใบหน้า เช่น นวดหน้า หรือการใช้เครื่องมือที่อาจมีความร้อน รวมถึงหมั่นสังเกตความผิดปกติบริเวณใบหน้าโดยเฉพาะตำแหน่งที่ทำการรักษา ทั้งนี้ ควรดื่มน้ำสะอาดอย่างเพียงพอ หากต้องการคำแนะนำในการดูแลรักษาผิวพรรณที่ถูกวิธีแนะนำให้ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนังโดยตรง